การเลือกบรรจุภัณฑ์สำหรับวัตถุพยาน

การเลือกบรรจุภัณฑ์สำหรับวัตถุพยาน เจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ต้องมั่นใจว่า ได้เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับวัตถุพยานที่ตรวจเก็บได้ในสถานที่เกิดเหตุและสอดคล้องกับประเภทของหลักฐานนั้น ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ทั้งนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้วัตถุพยานมีโอกาสปนเปื้อนกันเอง หรือรั่วไหลจากบรรจุภัณฑ์เหล่านั้น หรือกระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดความเสียหายจนไม่สามารถนำวัตถุพยานไปตรวจวิเคราะห์ต่อในภายหลังได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องระบุรายละเอียดของวัตถุพยานนั้น โดยการใช้ฉลากหรือ สิ่งบ่งชี้อื่นใดที่มีความคงทน ไม่สามารถแก้ไข ลบเลือนได้โดยง่าย เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เกิดการสับเปลี่ยนกันเองทั้งด้วยความจงใจหรือการกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ที่เข้าถึงบรรจุภัณฑ์นั้น

หลักสำคัญในการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

หลักสำคัญในการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุที่กระทำด้วยความรอบคอบจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อใช้วิเคราะห์หาสาเหตุและเชื่อมโยงไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่คนแรกที่เดินทางไปถึงสถานที่เกิดเหตุจำเป็นต้องมั่นใจว่าสถานที่เกิดเหตุได้รับการป้องกันรักษาไว้อย่างดี ไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามารบกวนวัตถุพยานต่างๆในสถานที่เกิดเหตุนั้นให้ได้มากที่สุด และทำการเก็บรวบรวมข้อมูลและหลักฐานต่างๆด้วยวิธีการที่ถูกต้องเป็นลำดับถัดไป และต้องมั่นใจว่าไม่ละเลยหรือมองข้ามอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว เช่น ไฟไหม้ หรือ อุบัติเหตุซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ความเสี่ยงและอันตรายในสถานที่เกิดเหตุ

ความเสี่ยงและอันตรายในสถานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุมักจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทุกครั้งที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าคดีนั้นจะมีลักษณะเช่นใด แต่มักจะมีปะปนอยู่ในสถานที่เกิดเหตุนั้นเสมอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเจ้าหน้าที่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็น วัตถุอันตรายทางชีวภาพ (Biological Materials) ได้แก่ สารคัดหลั่งต่างๆที่ออกมาจากร่างกายของสิ่งมีชิวิตทั้งมนุษย์และสัตว์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะมีการเจือปนของเชื้อโรคที่สามารถแพร่กระจายต่อได้หากมีการสัมผัสโดยไม่มีการป้องกัน สารเคมีและวัตถุมีพิษ (Chemicals and Toxins) ได้แก่ สารเคมีประเภทต่างๆซึ่งจัดว่ามีอันตรายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า วัตถุอันตรายทางชีวภาพ ซึ่งอาจมีอยู่ในรูปแบบของสารกัดกร่อน ไอระเหย ผงเคมี หรือในสถานะใดๆก็ตามที่ปะปนอยู่ในสถานที่เกิดเหตุนั้น ซึ่งสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายในส่วนต่างๆได้ตลอดเวลา รวมไปถึงอันตรายจากสภาวแวดล้อม (Environmental Hazards) ได้แก่ ความไม่มั่นคงของสถานที่เกิดเหตุ เช่นซากปรัก หักพังของอาคาร หรือ การรั่วไหลของไฟฟ้า แก๊สที่ยังไม่ถูกควบคุมให้อยู่ในระดับปลอดภัย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ทุกครั้งก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเริ่มปฏิบัติจำเป็นต้องประเมิน ระงับ ยับยั้งอันตรายต่างๆเหล่านั้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงการจัดเตรียมเครื่องมือป้องกันภัยส่วนบุคคลให้พร้อมและเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วยเช่นกัน